
จ้ำบ๊ะเป็นของหวานโบราณอีกชนิดหนึ่ง ที่มีต้นกำเนิดมาจากเพชรบุรี ซึ่งมีมานานไม่น้อยกว่า 50 ปี โดยชาวจีนในจังหวัดเพชรบุรีที่มีอาชีพขายปาท่องโก๋ ไม่อยากให้ปาท่องโก๋เหลือ จึงนำปาท่องโก๋ที่มักจะกินคู่กับกาแฟในตอนเช้ามาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วทอดจนกรอบให้หายเหนียว (ขนมปังหัวกะโหลก) จากนั้นนำไปราดน้ำแข็ง น้ำหวาน และนมข้นหวาน จนภายหลังได้มีการแพร่กระจายไปจังหวัดอื่น ๆ มีการใส่ไส้ต่าง ๆ เพิ่มเข้าไป เช่น มะพร้าว ข้าวเหนียว ลูกชิด ฟักทอง สับปะรด เป็นต้น โดยชื่อมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว คำว่า “จัมบะ” แล้วเพี้ยนไปเป็น จ้ำบ๊ะ ในเวลาต่อมา ลักษณะของจ้ำบ๊ะหรือน้ำแข็งไสต้นตำรับ จะต้องเป็นน้ำแข็งที่ไสออกมาเป็นเกล็ด ไม่ใช่น้ำแข็งโม่ละเอียดอย่างที่บางร้านทำขาย
