
คำว่า “เคย” คำนี้ราชบัณฑิตยสถานไทย ได้ให้ความหมายไว้เพียงว่า “น. ชื่อสัตว์ทะเลหลายชนิดหลายสกุล มี ๒ วงศ์ ได้แก่ วงศ์ Mysidae เช่น เคยตาดํา” แต่จากการศึกษาของผู้รู้ทราบว่ารากคำเดิมของคำว่า “เคย” น่าจะกร่อนมาจากคำในภาษาจีนไหหลำ คือคำว่า “โก่ย” หมายรวมถึงทั้งตัวกุ้งเคยและกะปิ
เคยเค็มหรือเคยฉลูหรือเกี่ยมโก่ย ที่หลายคนรู้จักกันเป็นของดีประจำจังหวัดตรัง ซึ่งมีเอกลักษณ์และรสชาติเป็นของตัวเอง โดยทำมาจากกุ้งตัวเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตัวเคย” นำมาหมักเกลือและปรุงรสจนได้รสชาติเค็มกลมกล่อม กลิ่นหอม เป็นวัตถุดิบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินของคนใต้
เคยเค็มอาจนับเป็นของที่ทำโดยกระบวนการลัด คือเพียงหมักตัวเคยกับเกลือเพียงไม่กี่วัน จนมีน้ำออกมาแฉะ ๆ เนื้อเคยยังใสๆ นิ่มๆ เห็นเป็นตัว ๆ อยู่ แม้เก็บรักษาได้ไม่นานเท่ากะปิ ทั้งยังไม่มีความนัวจากกระบวนการหมักนานแบบที่กะปิมี แต่ก็ได้เปรียบเรื่องสัมผัสของเนื้อและกลิ่นที่มีความสดคาวกว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
