
ในอดีตอุปกรณ์ทำการประมงท้องถิ่นในพื้นพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ และพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาใช้ด้ายดิบเป็นวัสดุในการทำอุปกรณ์ประมง โดยการถัก กัด อวน แห มาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 100 ปี ซึ่งปัญหาของการใช้ด้ายดิบมาผลิตเป็นอุปกรณ์ประมง คือ เมื่อใช้ไประยะหนึ่งด้ายจะพองตัว ไม่อมน้ำ ทำให้ด้ายไม่จมน้ำ ดักจับปลาได้น้อย และขาดง่าย เมื่อมีปัญหาเช่นนี้ ชาวประมงจึงหาวิธีแก้ปัญหา โดยการนำอุปกรณ์ที่ทำจากด้ายดิบมาย้อมด้วยไข่ขาว การย้อมนี้จะนำไข่ขาวผสมกับน้ำ คนให้เข้ากัน แล้วนำอุปกรณ์ประมง เช่น กัด อวน แห เป็นต้น ซึ่งถักจากด้ายดิบลงไปย้อมไข่ขาวผสมน้ำที่เตรียมไว้ไห้ทั่ว แล้วนำไปนึ่งประมาณ 20 – 30 นาที จากนั้นนำไปตากแดดจนแห้งสนิท เพื่อให้มีความคงทนมากขึ้น สามารถนำไปใช้งานได้หลายครั้ง มีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้จมน้ำเร็วขึ้น อีกทั้งไข่ขาวมีกลิ่นคาว ทำให้สัตว์น้ำเข้ามาในอุปกรณ์ดังกล่าวจำนวนมากด้วย
การย้อมอุปกรณ์ประมงโดยใช้ไข่ขาวเป็นหลักนั้น ส่งผลให้มีปริมาณไข่แดงเหลือเป็นจำนวนมาก ชาวประมงจึงนำไข่แดงมาประกอบอาหาร แต่เนื่องจากปริมาณของไข่แดงที่มีจำนวนมาก หากนำมาทำเป็นอาหารแล้วบริโภคไม่หมด จะทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงได้คิดค้นวิธีการถนอมอาหารโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยการนำไข่แดงที่เหลือจากการย้อมอุปกรณ์ทำประมงมาบรรจุในเปลือกไข่ที่ตัดแต่งขอบผ่านกระบวนการถนอมอาหารด้วยน้ำเกลือ นำเปลือกไข่มาปิดครอบปากเพื่อกันแมลงและสิ่งสกปรก จากนั้นทำให้สุกโดยใช้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์(ตากแดด)จึงเป็นที่มาของ”ไข่ครอบ”
