
มัสยิดวาดีลฮูเซ็นหรือมัสยิดตะโละมาเนาะ (มัสยิด ๓๐๐ ปี) มัสยิดเก่าแก่และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๖๗ โดยวันฮูเซ็น อัส-ซานาวี ซึ่งอพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จังหวัดปัตตานี มัสยิดแห่งนี้จะมีอายุครบ ๔๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ตั้งอยู่ที่บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาวอ คำว่า “ตะโละมาเนาะ” เป็นคำภาษามลายู “ตะโละ” (teluk) แปลว่า “อ่าว” หรือแผ่นดินที่เว้าเข้าไปในเชิงเขา ส่วนคำว่า “มาเนาะ” (manok) เป็นชื่อพรรณไม้ท้องถิ่นชนิดหนึ่ง จึงมีความหมายถึงบริเวณที่มีต้นมาเนาะ แต่บางแห่งก็ว่า “มาเนาะ” เป็นคำมลายูเก่าแปลว่า “นก” หรือ “ไก่” ส่วนชื่อมัสยิดวาดีลฮูเซ็น ตั้งตามนามของวันฮุซเซน อัซซานาวี

มัสยิดวาดีลฮูเซ็นหรือมัสยิดตะโละมาเนาะ เป็นมัสยิดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในมัสยิดเป็นที่เก็บรักษาพระคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเขียนด้วยลายมือของ วันฮุซเซน อัซซานาวี อิหม่ามคนแรกของมัสยิด
วันฮูเซ็น อัส-ซานาวี เป็นผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จังหวัดปัตตานี และเป็นผู้สร้างมัสยิด เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๖๗ เริ่มแรกสร้างหลังคามุงใบลาน ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา ลักษณะของมัสยิดมีความแตกต่างจากมัสยิดทั่วไป คือเป็นอาคาร ๒ หลังติดต่อกัน สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ลักษณะการสร้างจะใช้ไม้สลักแทนตะปู รูปทรงของอาคารเป็นแบบไทยพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับศิลปะจีนและมลายู
ลักษณะเด่นที่สุดของอาคารคือเหนือหลังคาจะมีฐานมารองรับจั่วบนหลังคาอยู่ชั้นหนึ่ง ส่วนหออาซานมีลักษณะเป็นเก๋งจีนตั้งอยู่บนหลังคา ฝาเรือนใช้ไม้ทั้งแผ่นแล้วเจาะหน้าต่าง ช่องลมแกะเป็นลวดลายใบไม้ ดอกไม้สลับลายจีน