อาหารของชาวใต้
อาหารพื้นบ้านภาคใต้มีรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ สืบเนื่องจากดินแดนของภาคใต้เคยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายของพ่อค้าจากอินเดีย จีน และชวา ทำให้วัฒนธรรมของชาวต่างชาติโดยเฉพาะอินเดียใต้ ซึ่งเป็นต้นตำรับในการใช้เครื่องเทศปรุงอาหาร ได้เข้ามามีอิทธิพลเป็นอย่างมาก อาหารพื้นบ้านภาคใต้ทั่ว ๆ ไป มีลักษณะผสมผสานระหว่างอาหารไทยพื้นบ้านกับอาหารอินเดียใต้ เช่น น้ำบูดู ซึ่งได้มาจากการหมักปลาทะเลสดผสมกับเม็ดเกลือ และมีความคล้ายคลึงกับอาหารมาเลเซีย อาหารของภาคใต้จึงมีรสเผ็ดมากกว่าภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย กอรปด้วยสภาพของภูมิศาสตร์ที่อยู่ติดทะเลทั้ง ๒ ฝั่ง จึงมีอาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ และสภาพอากาศที่ร้อนชื้น มีฝนตกตลอดปี อาหารประเภทแกงและเครื่องจิ้มจึงมีรสจัด ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นป้องกันการอาการเจ็บป่วยได้อีกด้วย ความหลากหลายในสำรับอาหารของชาวปักษ์ใต้ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดียใต้ ทำให้เกิดตำรับอาหารที่หลากหลาย ซึ่งล้วนผ่านกรรมวิธีการดัดแปลง และปรับปรุงให้กลายเป็นวัฒนธรรมอาหารการกินที่เฉพาะและถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบัน ทำให้มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากภาคอื่น ๆ ได้อย่างชัดเจน คือรสชาติจัดจ้านจะเน้นเครื่องเทศและมีผักสารพัดชนิดที่เรียกว่า “ผักเหนาะ” ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านหาได้ในท้องถิ่นภาคใต้ เช่น สะตอ ลูกเหนียง ยอดกระถิน มากินร่วมด้วย เพื่อบรรเทารสเผ็ดของอาหาร อีกทั้งมีสรรพคุณเป็นยาอีกด้วย เนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงเป็นอาหารส่วนมากนิยมสัตว์ทะเล เช่น ปลากระบอก ปลาทู ปูทะเล กุ้งหอย ซึ่งหาได้ในท้องถิ่นอาหารพื้นบ้านของภาคใต้ เช่น แกงเหลือง แกงไตปลา นิยมใส่ขมิ้นปรุงอาหารเพื่อแก้รสคาว เครื่องจิ้ม คือน้ำบูดูอาหารพื้นบ้านภาคใต้ที่มีชื่อเสียง อาหารพื้นบ้านทางภาคใต้จะมีรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งโดยทั่วไปจะมี ๓ รส คือเปรี้ยว เค็ม และเผ็ด
การท่องเที่ยวภาคใต้
ภาคใต้ เป็น ๑ ใน ๔ ภูมิภาคหลักของประเทศไทย ตั้งอยู่ระหว่างละติจูดที่ ๕ ถึง ๑๒ องศาเหนือ และลองติจูดที่ ๙๘ ถึง ๑๐๓ องศาตะวันออก ประกอบด้วย ๑๔ จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง ภูเก็ต สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น ๔๔,๑๙๖,๙๙๒ ไร่ หรือ ๗๐,๗๑๕.๑๘๗ ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ ๑๓.๗๘ ของเนื้อที่ทั้งประเทศ มีอาณาเขตด้านทิศเหนือจดอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้านทิศใต้จดประเทศมาเลเซีย ด้านทิศตะวันออกจดอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ ด้านทิศตะวันตกจดทะเลอันดามันและสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานนั้นมีหลักฐานบ่งชี้ว่านานมาแล้วกว่า ๒๐,๐๐๐ ปี ที่แผ่นดินเรียวแหลมปลายด้ามขวานทองของไทยถูกเรียกว่าเป็นบ้านของคนกลุ่มหนึ่ง โดยคนยุคแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคใต้คือชนชาวถ้ำและชนชาวน้ำ ซึ่งประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้จากหินและไม้ เช่น ลูกศรหิน หอก คันธนู ภาชนะดินเผา ฯลฯ ที่นักโบราณคดียุคปัจจุบันได้ขุดในช่วงต้นปี ๒๕๕๒ ก็ถูกขุดค้นพบที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ในเวลาต่อมาจากกลุ่มบ้านเพียงไม่กี่ครัวเรือนก็ค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นเป็นชุมชน และมีการติดต่อกับชุมชนอื่น ๆ เช่น จีน อินเดีย แล้วมีวิวัฒนาการทางด้านความเป็นอยู่ รวมถึงวิถีวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานจนกลมกลืนเป็นเอกลักษณ์ของชาวใต้ ทั้งภาษา การนับถือศาสนา การแต่งกาย อาหาร ประเพณีต่าง ๆ โดยการผสมผสานส่วนใหญ่นั้นสัมพันธ์แนบแน่นกับชวา-มลายู รวมทั้งมีวิถีชีวิตของจีนกลมกลืนเข้ามาบ้าง เห็นได้ชัดเจนเฉพาะในแถบอันดามัน คือระนอง พังงา และภูเก็ต
ประเทศไทยมีลักษณะทางด้านกายภาพมีรูปร่างคล้ายขวานโบราณ หรือที่นักการทหารมองว่าคล้ายหัวช้างนั้น ได้รับการแบ่งออกเป็นภูมิภาคต่าง ๆ ตามลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เศรษฐกิจ และวิถีทางวัฒนธรรม เพื่อให้สะดวกต่อการปกครองและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยภาคใต้เปรียบดังด้ามขวานหรือวงช้างในแผนที่ประเทศไทยนั่นเอง ลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่นของภาคใต้ คือมีรูปร่างเรียวแหลมและถูกขนาบด้วยทะเล โดยฝั่งตะวันออกติดอ่าวไทย ส่วนฝั่งตะวันตกติดทะเลอันดามัน ทุกจังหวัดในภาคใต้มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ยกเว้นจังหวัดยะลา ในส่วนของชายหาดฝั่งอ่าวไทยนั้นเกิดจากการที่เปลือกโลกยกตัวขึ้นสูง ทำให้เกิดที่ราบชายฝั่งทะเลยาว เรียบ กว้าง และน้ำตื้น ชายหาดสวยงามทางฝั่งอ่าวไทยมีมากมาย เช่น หาดทุ่งวัวแล่น หาดอรุโณทัย จังหวัดชุมพร หาดขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช แหลมสมิหลา จังหวัดสงขลา ฯลฯ ส่วนพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันเกิดการยุบตัวของเปลือกโลก ชายฝั่งจึงยุบต่ำลงมีที่ราบน้อยชายหาดเว้าแหว่งเป็นโขดหิน มีหน้าผาสูง มีอ่าวและเกาะมากมาย เช่น เกาะภูเก็ต เกาะตะรุเตา เกาะลันตา เกาะลิบง ฯลฯ อีกทั้งยังมีชายป่าชายแลนขึ้นอยู่หนาแน่นตั้งแต่อ่าวพังงาลงไปถึงจังหวัดสตูล ส่วนพื้นที่ที่สองฝั่งทะเลของภาคใต้มีความแตกต่างเช่นนี้ นับเป็นข้อดีที่ทำให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสเลือกเดินทางไปเยือนได้ตลอดทั้งปี ยกเว้นการลงเรือไปยังหมู่เกาะต่าง ๆ ซึ่งต้องดูดินฟ้าอากาศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ก็ควรเลือกไปเที่ยวทะเลฝั่งตะวันออกคืออ่าวไทย ส่วนช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือผัดผ่านประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน- มกราคม ก็ควรไปเที่ยวทะเลฝั่งตะวันตก คือด้านอันดามัน แต่สำหรับแหล่งท่องเที่ยวมากมายบนบกและชายฝั่ง สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
ลักษณะทางกายภาพบนบกของภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบมีเทือกเขาสำคัญคือ เทือกเขาภูเก็ต ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา และภูเก็ต เทือกเขานครศรีธรรมราช ทอดยางจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ่านนครศรีธรรมราชลงมาถึงสตูล ซึ่งเทือกเขาทั้งสองนี้ตั้งอยู่ตรงกลางภาคทอดยาวจากเหนือลงใต้ โดยความชันค่อย ๆ ลาดไปสู่ฝั่งทะเลทั้ง ๒ ด้าน และอีกเทือกเขาสำคัญของภาคใต้คือ เทือกเขาสันกาลาคีรี (อยู่ในเขตจังหวัดสงขลา ยะลา และนราธิวาส) ซึ่งเป็นพรมแดนกั้นระหว่างประเทศไทยกับมาเลเชีย เทือกเขาในภาคใต้มีความยาวทั้งสิ้น ๑,๐๐๐ กิโลเมตร ซึ่งทั้งหมดคือแหล่งต้นน้ำสำคัญของภาคใต้ โดยสายน้ำย่อย ๆ ได้ไหลลงไปรวมกันเป็นแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำตาปี (จังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี) แม่น้ำคีรีรัฐ (สุราษฎร์ธานี) แม่น้ำปากพนัง (จังหวัดนครศรีธรรมราช) แม่น้ำสายบุรี (จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) และแม่น้ำกระบุรี (จังหวัดระนอง)
นอกจากนี้ความล้ำค่าของภาคใต้ยังอยู่ที่พรรณพืชและสรรพสัตว์มากมาย ทั้งบนบกและใต้ทะเล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่ทรงคุณค่า หลายชีวิตนับเป็นทรัพยากรทางการท่องเที่ยว เช่น ดอกบัวผุดแห่งเขาสก ฉลามวาฬ กระเบนราหูใต้ทะเลอันดามัน ปลาหมดทะเล และสิ่งมีชีวิตใต้ห้วงน้ำอ่าวไทย