
ขนมอาโป๊งหรือขนมเบื้องมาเลเซีย เป็นอาหารพื้นเมืองของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับอิทธิพลจากประเทศมาเลเซียและนำเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต หน้าตาของมันคล้าย ๆ กับขนมเบื้องทองม้วน โดยมีถิ่นกำเนิดมาจากอินเดียใต้ ซึ่งจะพบได้ทั่วไปในรัฐเกรละ และรัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย และประเทศศรีลังกา ต่อมาเผยแพร่เข้ามาโดยผ่านชาวอินเดียที่อพยพมาใช้แรงงานในคาบสมุทรมลายูในอดีต
คำว่าอาโป๊งนั้นมาจากภาษามลายูถิ่น คืออาปม (Apom) หรืออาปง (Apong) หรืออาปัมมานิซ (Apam manis) เดิมที่อาโป้งในแบบฉบับดังเดิมของอินเดียเป็นอาหารคาว มีส่วนผสมของนมข้าวและกะทิผสมกัน ทิ้งให้ยีสต์ขึ้นแล้วจึงนำไปใส่หลุมกระทะ รับประทานคู่กับแกงกะหรี่ เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมทานเป็นมื้อเช้าอย่างมากในอินเดียใต้ เมื่อขนมชนิดนี้ได้ถูกเผยแพร่มาสู่คาบสมุทรมลายู ได้มีการปรับเปลี่ยนรสชาติให้ถูกปากคนท้องถิ่นได้การผสมน้ำตาลลงไป ทำให้อาโป้งกลายเป็นขนมหวานที่นิยมรับประทานในภาคใต้ โดยเฉพาะที่ภูเก็ต คนภูเก็ตนิยมรับประทานคู่กับชา กาแฟยามเช้าหรือช่วงบ่าย เป็นขนมที่ทานง่ายและสะดวก ตัวแป้งทำจากแป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย ไข่ไก่ เอาแต่ไข่แดง น้ำ น้ำกะทิ และยีสต์ผสมกันได้น้ำแป้งพักไว้ ราดบนกระทะหลุมใบเล็ก กลิ้งน้ำแป้งให้เป็นแผ่นกลมทั่วกระทะ ทิ้งไว้บนเตาอั้งโล่ ใช้ไฟปานกลาง ปิดฝาไว้สักพัก พอเหลืองลอกออกมาม้วนตั้งทิ้งไว้ แป้งแผ่นจะม้วนกลมอยู่ตัวกรอบแต่ตรงกลางนุ่ม รสชาติหวานอ่อน ๆ