หมูย่างเมืองตรัง

       หมูย่าง คือหมูย่างที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดตรัง ด้วยกรรมวิธีพิเศษตามภูมิปัญญาของคนเมืองตรัง แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่หมูย่างที่ทำจากหมูขี้พร้า (หมูพันธุ์เล็ก) และหมูย่างที่ทำจากหมูพันธุ์ทั่วไป โดยมีลักษณะทางกายภาพ หนังกรอบ สีเหลืองทอง เนื้อหอมนุ่ม รสชาติอร่อย กลมกล่อม แต่ถ้าทำจากหมูขี้พร้าจะมีลักษณะพิเศษเพิ่มขึ้นคือเนื้อน้อย 
           สำหรับต้นกำเนิดของหมูย่างเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน เมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว โดยพ่อครัวได้ปรุงถวายให้แก่ฮ่องเต้ในพระราชวัง ต่อมาได้แพร่หลายมาที่จังหวัดเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว ด้วยเหตุที่จังหวัดตรังเป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศคือท่าเรือกันตัง ชาวจีนมณฑลกวางตุ้งได้อพยพมาทางเรือขึ้นฝั่งที่อำเภอกันตังหรือปากแม่น้ำตรัง และได้บุกเบิกตั้งรกรากที่จังหวัดตรัง ส่วนมากมีอาชีพทำไร่พริกไทย นอกจากนี้ชาวจีนเหล่านั้นได้เลี้ยงหมูพันธุ์เล็ก ซึ่งนำลงเรือมาด้วย โดยนำมาเลี้ยงในตำบลทับเที่ยง ปรากฏว่าได้ผลดีมาก ต่อมาต้นตระกูลของร้านฟองจันทร์ โดยนายฟอง ไทรงาม ชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้งได้เริ่มทำหมูย่างจำหน่ายเป็นรายแรกในสมัยนั้น เรียกว่าหมูย่างฟองจันทร์ เล่ากันว่าต้นตระกูลฟองจันทร์ใช้ชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้ง คือนายซุ่น ซึ่งเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการย่างหมูมาช่วยทำหมูย่าง และได้ฝึกผู้ช่วยขึ้นมา จนทำให้หมูย่างได้แพร่หลายมากขึ้น ในหมู่คนตรัง ลูกมือหลายคนที่เคยทำงานกับหมูย่างฟองจันทร์ ได้ออกมาทำกิจการของตนเองในภายหลังจนเกิดเป็นหมูย่างหลายสิบรายและขยายสู่รุ่นหลังมากขึ้น จนมีการสืบทอดกันต่อมาจนถึงปัจจุบัน

Scroll to Top